รีวิว SLR กล้องติดตาย
สวัสดีจ้าวันนี้แอดจะมารีวิวหนังเรื่อง SLR กล้องติดตาย ไม่แน่ใจว่าจะเป็นการสปอยหรือไม่ หากจะพูดในทำนองว่าหนังเรื่องนี้ไม่ใช่หนังผีถ่ายติดวิญญาณที่เน้นบรรยากาศชวนขนหัวลุกและหลอกหลอนคนดูอย่าง “ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ” แต่เป็นหนังที่ใช้เรื่องราวของศาสตร์ลัทธิลึกลับ และอำนาจเหนือธรรมชาติ ในการสร้างความหวาดกลัวในเรื่อง ซึ่งจะว่าไปก็เห็นไม่บ่อยนักที่หนังไทยจะหยิบยกเรื่องพวกนี้ที่ดูจะไกลตัวคนดูในบ้านเรา
SLR กล้องติดตาย เป็นเรื่องราวของ แดน (กรภัทร์ เกิดพันธุ์) นักศึกษาหนุ่มสาขาภาพถ่ายที่มุ่งมั่นจะเรียนจบและขอทุนไปต่างประเทศให้ได้เหมือนกับแฟนสาว น้ำ (เฌอปราง อารีย์กุล) และเพื่อนสนิท เกรท (ศดานนท์ ดุรงคเวโรจน์) แต่ก็มีปัญหาด่านสุดท้ายเป็นเรื่องการทำธีสิสจบมหาลัย วันหนึ่งอาจารย์เอ็ม (อ้น นพพันธ์ บุญใหญ่) อาจารย์ที่ปรึกษาของแดน ก็ได้มอบกล้อง SLR ตัวหนึ่งให้เขาไปถ่ายภาพใช้ทำธีสิส โดยโจทย์คือ ถ่ายภาพบุคคลมาให้ได้ 7 คน ภายใน 14 วัน
แต่เมื่อเวลาผ่านไปแดนก็เริ่มรู้สึกว่า คนที่ถูกแดนถ่ายด้วนกล้องตัวนี้ ค่อยๆ ทยอยเสียชีวิตไปทีละคนอย่างเป็นปริศนา นั่นทำให้แดนและน้ำแฟนสาว รวมถึงเกรทเพื่อนของเขา ต้องเริ่มสืบหาต้นตอของเรื่องนี้ก่อนที่ความชั่วร้ายที่สิงสถิตอยู่ในกล้องตัวนี้จะทำให้พวกเขาต้องพบกับจุดจบที่น่าสะพรึงกลัว
แม้จะเป็นผลงานใหม่ถอดด้ามของสองผู้กำกับ มาร์ค เลิศศิริ และ เอ็ด วุฒิชัย
แต่ก็ถือว่าทำออกมาได้ดีและน่าสนใจไม่น้อย และสัมผัสได้ถึงความเป็นสากลของตัวหนังทั้งด้านงานภาพที่ตัวฉากเปิดเรื่องก็มีการทำกราฟฟิกแบบที่ภาพยนตร์ต่างประเทศนิยมใช้กัน หรือแม้แต่ฉากต่างๆในเรื่องก็มีการจัดวางองค์ประกอบภาพและใช้สีที่ไปในทางที่สวยงาม จัดจ้านและสื่อความหมายไปพร้อมๆกัน หนังผีไทย
รวมถึงตัวเนื้อหาที่พยายามหลุดออกจากกรอบเดิมๆ ว่าถ้าเป็นหนังผีแล้วก็หนีไม่พ้นต้องพูดเรื่องศาสนา เรื่องกฏแห่งกรรม ความดีความชั่ว การเวียนว่ายตายเกิด ทำนองนี้ ซึ่งตัวหนังได้ข้ามสิ่งเหล่านี้และไปพูดถึงประเด็นทางสังคมอย่างฐานะทางสังคมกับการประสบความสำเร็จ การแสวงหาโอกาสการทำงาน ที่แม้จะใส่มาบางเบาและบางอย่างก็บอกกันโต้งๆ แต่ก็พอรู้สึกได้ว่าเป็นสิ่งที่ผู้กำกับต้องการสื่อออกมาเหมือนกัน
งานด้านโปรดักชั่นก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี(ในแวดวงหนังไทย) ทั้งเรื่องศพก็ค่อนข้างสมจริงน่ากลัว หรือสิ่งที่ปรากฏตอนท้ายเรื่อง ที่แม้ว่าจะเป็นCGIที่เราเห็นได้ตามภาพยนตร์ทุนต่ำสำหรับต่างประเทศ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นความกล้าหาญ(ตั้งแต่ตัวเนื้อเรื่องแล้ว)ที่นำเสนองานทำนองนี้ออกมามากกว่าจะอยู่ในกรอบเดิมๆเพื่อเพลย์เซฟ กลายเป็นการสร้างทิศทางใหม่ๆ ให้กับวงการภาพยนตร์ของบ้านเรา
รีวิว SLR กล้องติดตาย
กระนั้นจุดที่คิดว่าหนังยังไปได้ไม่สุดทางก็ยังมีอยู่ ที่เห็นได้ชัดเลย คือ การที่ตัวหนังไม่รู้ว่าจะ “เล่นงาน” คนดูอย่างไรในช่วงแรกของหนัง เหมือนไม่รู้ว่าตัวเองอยากจะหลอกคนดูในฐานะหนังผีหรือหนังเขย่าขวัญ(อารมณ์หนังจากนิยายสตีเฟ่น คิง) กลายเป็นว่าทำได้แค่ใช้จังหวะ “จั้มป์สแคร์” หลอกคนดูไปตามทาง(จนนึกว่าเป็นหนังผี)
และแล้วเมื่อความจริงเปิดเผยหนังที่มัวแต่หลอกคนดูก็ไม่ได้ปูความเชื่อหรือเหตุผลที่ดีพอจะรองรับสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้เมื่อเรื่องเปลี่ยนไปอีกขั้วหนึ่งในช่วงหลัง หนังจึงไม่มีพลังพอที่จะพาคนดูรู้สึกร่วมไปกับสิ่งเหล่านั้นได้เท่าที่ควร หนำซ้ำยังเป็นผลให้ฉากที่ควรจะพีคที่สุดกลายเป็นไร้ซึ่งความน่ากลัว และดูน่าสงสัยแทนที่ซะอย่างนั้น
(ทั้งตรรกะและการกระทำหลายๆ อย่างของตัวละคร ที่ชวนให้รู้สึก เอ๊ะ!! ในใจอยู่หลายๆ ครั้ง)
อีกจุดที่ดูจะขาดหายไปโดยที่เป็นการตอบคำถามว่า บางช่วงทำไมเราถึงรู้สึกว่าหนังมันไม่สนุก? นั่นคือ หนังเรื่องนี้ไม่มีเนื้อเรื่องรองที่จะมาช่วยเนื้อเรื่องหลักเอาไว้ ยกตัวอย่างง่ายๆ ในช่วงที่แดนกำลังใช้กล้องถ่ายภาพคนเพื่อทำโปรเจคจบของเขา แล้วค่อยๆสัมผัสกับสิ่งประหลาดที่เกิดขึ้น ในช่วงนี้นอกจากความสงสัยของแดนแล้ว
หนังไม่ได้ขับเคลื่อนคนดูไปในทิศทางไหนเลย เหมือนก็ปล่อยให้เราสงสัยเช่นเดียวกับแดนอยู่อย่างนั้น ซึ่งมันทำให้คนดูเกิดคำถามว่า แล้วยังไงต่อ? ไม่ทำอะไรสักหน่อยหรอ? ทำนองนี้ กลายเป็นหนังดูว่างเปล่าไปเลยในช่วงนี้ แน่นอนถ้ามีหนังเนื้อเรื่องรองที่แข็งแรงมาช่วยพยุงไว้ก็น่าจะดีขึ้นกว่าปล่อยให้คนดูลุ้นแต่เพียงว่า เมื่อไหร่ผีจะทะลุกล้องมาสักที ฮ่าๆๆ
สิ่งที่ควรจะมีเพิ่มอย่างความสัมพันธ์ของตัวละครหลักทั้งสามคน ก็กลับหายวับไป เมื่อเรื่องเข้าสู่จังหวะสำคัญ ทั้งๆ ที่มีการพูดถึงสถานะของทั้งสามคนอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้เอามาใช้เป็นประโยชน์ เหมือนกลัวว่าเรื่องจะเสียสมดุลก็เลยตัดมันทิ้งดื้อๆ เลยซะอย่างนั้น เลยมีผลต่อให้ทุกตัวละครในเรื่องดูแบนแล้วก็ไม่ค่อยมีมิติสักเท่าไหร่นัก
ความรู้สึกหลังดู
ทางด้านนักแสดงที่เน้นไปในคนรุ่นใหม่เริ่มจาก นนน กรภัทร์ ที่สอบผ่านในการเล่นภาพยนตร์ครั้งแรก อาจจะไม่ถึงกับดีเลิศแต่พลังในการแสดงของเขาก็ทำให้คนดูลุ้นเอาใจช่วยได้เหมือนกัน ทางด้านเฌอปราง อารีย์กุล ที่เคยผ่านงานก่อนหน้าอย่าง ‘โฮมสเตย์’ มา อาจจะรู้สึกว่าไม่ได้โชว์ทักษะทางการแสดงมากไปกว่าเดิมเท่าไหร่
แม้จะเปลี่ยนมาเป็นคาแรคเตอร์ที่ดูจะเป็นผู้ใหญ่ขึ้นก็ตามที ส่วน นนท์ ศดานนท์ ที่ครั้งนี้เป็นงานเรื่องที่สามแล้ว แม้จะเป็นตัวละครสมทบ แต่ก็สามารถแสดงความโดดเด่นออกมาได้เป็นอย่างดี และคนที่สร้างความไม่น่าไว้ใจให้กับเรื่องมากที่สุดคงหนีไม่พ้น นักแสดงประสบการณ์สูงอย่าง อ้น นพพันธ์ ที่แฝงความอันตรายและน่าสะพรึงกลัวเอาไว้ผ่านใต้ใบหน้าที่เรียบเฉย เข้ากับคำพูดที่ว่า “หวังดีประสงค์ร้าย” จริงๆ
สรุป SLR กล้องติดตาย เป็นหนังที่อาจจะใช้คำว่า ไม่ดีไม่แย่ เพราะหลายๆอย่างดูขัดกันและไม่ค่อยจะไปสุดทางเท่าไหร่ รวมถึงขาดพลังของการสร้างความน่าเชื่อถือในสิ่งที่หนังต้องการจะสื่อ และขาดเนื้อเรื่องรองที่ช่วยเพิ่มมิติให้กับตัวหนังด้วย และส่งผลให้นักแสดงไม่ได้แสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ แต่อย่างน้อยก็น่าชื่นชมที่หนังพยายามนำเสนอแนวทางใหม่ๆ ให้กับวงการภาพยนตร์บ้านเรา ที่ตอนนี้ดูจะมีความหลากหลายมากขึ้นเป็นสัญญาณที่ดีไม่น้อยเลย
“SLR กล้อง ติด ตาย” อาจดูเหมือนหนังผี แต่กลับไม่ใช่… จริงอยู่ที่รากเหง้าของเรื่องมาจากความเชื่อของคนไทยโบราณที่เชื่อว่า “อย่าถ่ายรูปเพราะจะดูดวิญญาณไป” แต่ในขณะเดียวกัน มันก็มีความสอดคล้องกับแนวคิดทางศาสตร์การถ่ายภาพที่ว่า “ดึงจิตวิญญาณออกมา ทั้งจากคนที่เป็นแบบ และจากคนที่กดชัตเตอร์”
ดังนั้น “SLR กล้อง ติด ตาย” จึงเป็นหนังแนว Psychological Thriller ที่พยายามเล่าถึงจิตวิญญาณและความขัดแย้งภายในจิตใจของมนุษย์ มากกว่าที่จะ Horror แถมยังมีความทะเยอทะยานที่จะอินเตอร์ และแหวกแนวจากหนังไทยทั่วไป กล่าวคือ แทนที่จะเป็นหนังผี แต่กลับเป็นหนังแนวปิศาจ ซาตาน และมอนสเตอร์เสียมากกว่า
ตัวเอกของเรื่องคือ “แดน” (นนน-กรภัทร์ จาก The Gifted) นักศึกษาหนุ่มด้านภาพถ่าย ที่สอบธีสิสกับอาจารย์เอม (อ้น–นพพันธ์) แต่ไม่ผ่านเสียที ในขณะที่เพื่อนสนิทของเขา “น้ำ” (เฌอปราง BNK48 จาก Homestay) และ “เกรท” (นนท์-ศดานนท์ จาก ดิวไปด้วยกันนะ) เรียนจบแล้ว และกำลังจะได้ไปเรียนต่อด้วยกันที่นิวยอร์ก ในที่สุด อาจารย์เอมได้
ให้กล้อง SLR ตัวหนึ่งกับแดน และบอกให้เอากล้องตัวนี้ไปถ่ายงานมาใหม่ ต่อมาแดนได้ค้นพบว่า มันเป็นกล้องปีศาจ ถ่ายใคร คนนั้นก็ตาย เขาต้องเลือกว่าจะยอมถ่ายต่อให้จบเพื่อรักษาชีวิตและอนาคตทางการศึกษาของตนเองไว้ หรือจะล้มเลิกเพื่อรักษาชีวิตคนบริสุทธิ์เอาไว้
จะเห็นได้ว่า ผู้กำกับพยายามทำให้เป็นหนังกฎแห่งกรรมที่โมเดิร์น แน่นอนว่าคนเราเลือกเกิดไม่ได้ว่าจะยากดีมีจน ต้นทุนชีวิตคนเราไม่เท่ากัน แต่ทุกการกระทำของคนเรามีความหมาย ทุกเส้นทางที่เราเลือกล้วนมีผลกระทบ ไม่ใช่แค่กับตนเอง แต่ยังกระทบยังผู้อื่นด้วย ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม “SLR กล้อง ติด ตาย” จึงเป็นหนังสยองขวัญที่ตั้ง
คำถามกับทิศทางสังคมเชิงหนุ่มสาวว่าพวกเขาจะเติบโตไปทางไหน เส้นทางที่พวกเขาเลือกคือคำตอบว่าคน ๆ นั้นให้ค่ากับอะไรมากกว่ากัน โดย pain points หลักของเรื่อง คือสิ่งที่หนุ่มสาวหลายคนต้องประสบ นั่นคือเรื่องโอกาส ความก้าวหน้า และความสำเร็จทางการศึกษาหรืออาชีพการงานน่าเสียดายที่
“SLR กล้อง ติด ตาย” มีความพยายามที่จะเป็นทุกอย่างและมีทุกรสมากเกินไป ทำให้หนังยังไปไม่สุดทาง
ทั้งสยองขวัญ สัตว์ประหลาด จิตวิทยา ดราม่าต้นทุนชีวิต มิตรภาพและรักสามเส้า ฯลฯ จริง ๆ ถ้าหนังอยากจะโกอินเตอร์แบบหนังเกาหลี เขาเล่นเรื่องต้นทุนชีวิต ทุนนิยม หรือ
การสำรวจจิตใจให้หนัก ๆ ไปเลยจะดีกว่า แล้วให้มอนสเตอร์เป็นตัวเสริมนิดหน่อย เหมือนหนังมอนสเตอร์แจ้งเกิดของบงจุนโฮ
ส่วนที่เราไม่ชอบคือ “SLR กล้อง ติด ตาย” เป็นหนังที่ยังมีบาดแผล มี subplot ที่ไม่จำเป็น มิติกับปมของตัวละครที่ไม่ได้รับการพัฒนาขัดเกลา บทและการตัดต่อมีบ้ง ๆ เบียว ๆ บ้าง และเคมีของนักแสดงนำยังไม่ค่อยเข้ากัน มีหนึ่งในสามคนที่เป็นตัวฉุดเกรดลงอย่างชัดเจน ในขณะที่ศดานนท์พยายามพยุงเกรดขึ้นแทบตาย
(เสียดายฝีมือที่เขาไม่ได้เล่นเป็นตัวเอกสุด) และอีกอย่างที่ดึงเกรดลงคือ “ฉากตุ้งแช่ (jump scare)” กับ sound ที่พยายามยัดเยอะเกินไปจนดูไร้รสนิยม
อย่างไรก็ตาม โดยรวม “SLR กล้อง ติด ตาย” ก็ออกมาดีเกินค่าเฉลี่ยหนังไทยมากอยู่ ไม่ได้ชอบแต่เชียร์ เพราะถือว่าแปลกใหม่ กล้าเล่นกล้าลอง โปรดักชั่นและซีจีถือว่าผ่าน ภาพสวย แต่ภาพสยองก็สยองแบบแหวะไปเลย ไม่แนะนำสำหรับคนขวัญอ่อนเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นแฟน ๆ นักแสดงนำ หรือเป็นนักดูหนังที่อยากสนับสนุนหนังไทยสักเรื่อง
เราคิดว่า “SLR กล้อง ติด ตาย” ควรค่าที่จะได้รับแรงสนับสนุนนั้น